โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาช็อกโกแลตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.เชียงใหม่ | โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

มทร.ล้านนา ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาช็อกโกแลตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.เชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 27 สิงหาคม 2567 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 987 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 คณะกรรมการดำเนินงานโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ประจำปี พ.ศ. 2567 ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของการพัฒนาช็อกโกแลตกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ณ ศูนย์เรียนรู้แปรรูปโกโก้ดอย ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ธนาคารออมสิน และ มทร.ล้านนา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชุมชนในด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาด และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.ชินานาฏ วิทยาประภากร ได้นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ โดยมี คุณสิริญา ปูเหล็ก ประธานกรรมการบริษัท Hill Tribe Cocoa Cof และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้แปรรูปโกโก้ดอย เป็นผู้กล่าวต้อนรับและแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการ

โครงการพัฒนาช็อกโกแลตกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ศูนย์เรียนรู้แปรรูปโกโก้ดอย ดำเนินการโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต และเพิ่มมูลค่าเปลือกโกโก้เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ข้อ 8 เรื่องงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ประกอบด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตอย่างสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่าเปลือกโกโก้เหลือทิ้งตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG และการขยายช่องทางการตลาดช็อกโกแลต นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ของนักศึกษา

โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นไม่เพียงแต่ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ในชุมชนเพื่อสืบทอดองค์ความรู้และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจท้องถิ่น ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็น และใช้กระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม โดยใช้โครงการเป็นกลไกขับเคลื่อนให้สมาชิกได้มีโอกาสพัฒนากลุ่มและจัดการกลุ่มร่วมกัน

การดำเนินโครงการนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ การสร้างโอกาสทางการตลาดและการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน พัฒนากระบวนการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG และสร้างความตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นใหม่ในชุมชน







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา