โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ปูนา (น้ำจิ้มปูหวานอบแห้ง) | โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

มทร.ล้านนา ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ปูนา (น้ำจิ้มปูหวานอบแห้ง)

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 9 กันยายน 2567 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 727 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 

เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2567 คณะกรรมการดำเนินงานโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ประจำปี 2567 นำโดย ด้วย คุณณิศากร บุญสงค์ หน่วยพัฒนาสังคมและชุมชน ธนาคารออมสินภาค 8 พร้อมด้วย อาจารย์ศรีธร อุปคํา รองผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ฝ่ายยุทธศาสตร์การนำไปใช้ประโยชน์ มทร.ล้านนา ลงพื้นที่ติดตามผลการดําเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ปรุงนา (น้ำจิ้มปูหวานอบแห้ง) ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2567 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินและ มทร.ล้านนา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชุมชนในด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาด และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะกรรมการได้รับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการจากนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ภายใต้การดูแลของ ดร.ลมัย ผัสดี โดยมี คุณนงนภัส บุญส่ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปูนา ต.เขื่อนผาก และ ประธานสตรีตำบลเขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ กล่าวต้อนรับและแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการ

โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ปูนา (น้ำจิ้มปูหวานอบแห้ง) มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์การแปรรูปอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากปูนาให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งเพิ่มและพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ รวมถึงการขยายช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ข้อที่ 8 ว่าด้วยการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน

ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ ประกอบด้วยการพัฒนาสินค้าปูนาตำบลเขื่อนผากสู่เชิงพาณิชย์ การพัฒนาด้านการบริหารจัดการกลุ่มและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดการค้า การสร้างการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน ธนาคารออมสิน และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในชุมชน

การลงพื้นที่ติดตามของคณะกรรมการในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการประเมินความก้าวหน้าของโครงการโดยตรง ทำให้สามารถรับทราบปัญหา อุปสรรค และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชุมชนและนักศึกษาที่ร่วมโครงการ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

 

ภาพ คณะกรรมการดำเนินงานโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ FB- PrungNa – ล้านนาพร้อมปรุง 

 

 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา